เสน่ห์จันทน์

เสน่ห์จันทน์




ขนมชื่อไพเราะเพราะพริ้ง ที่หลายคนอาจจะไม่เคยทาน เสน่ห์จันทน์ นั้นเป็นขนมที่ทำเลียนแบบรูปทรงของผลไม้ได้แก่ลูกจันทร์ มีขั้วน่ารักน่าทาน

ส่วนผสม

แป้งสาลีอเนกประสงค์ 1 ถ้วย
แป้งเท้ายายม่อม 1 ช้อนชา
ไข่ไก่ (ใช้เฉพาะไข่แดง) 6 ฟอง
กะทิ (มะพร้าวขูดขาว 200 กรัม) 1 ถ้วย
น้ำตาลทราย 1 ถ้วย
ลูกจันทน์ป่น 1 ช้อนชา
สีผสมอาหารสีน้ำตาล

วิธีทำ

1. ใส่กะทิกับน้ำตาลลงในกระทะทอง ตั้งไฟให้เดือด ยกลง นำไปกรองด้วยผ้า ขาวบาง นำขนตั้งไฟกลาง นานประมาณ 10 นาที ยกลง ทิ้งไว้ให้เย็น
2. ร่อนแป้งสาลี แป้งเท้ายายม่อม และลูกจันทน์ป่น เข้าด้วยกัน 2 ครั้ง นำไป ผสมกับกระทิที่เย็นแล้ว (ส่วนผสมข้อ 1) คนให้เข้ากันจนเป็นเนื้อเนียน
3. ใสไข่แดงลงในแป้งคนให้เป็นเนื้อเดียวกัน นำขึ้นตั้งไฟ กวนไฟอ่อนๆ จน แป้งสุก เนื้อเนียนเป็นเงามัน ยกลง ทั้งให้เย็น
4. นำแป้งมาปั้นเป็นก้อนกลมเล็กๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 ซม. กดให้ แบนเล็กน้อยเพื่อนำขั้วมาติด
5. ทำขั้วลูกฉันทน์ โดยนำแป้งที่กวนมา 1 ซ้อนโต๊ะ ผสมสีน้ำตาล เข้าด้วยกัน ปั้นเป็นก้อนแบนเล็กติดเป็นขั้วเสน่ห์จันทน์

yengo หรือ buzzcity

วิธีทำน้ำปูนใส

วิธีทำน้ำปูนใส




น้ำปูนใส ที่ใช้ทำขนมทำมาจากปูนแดง ที่ไม่ใส่สีเสียด ปูนแดงได้จากปูนขาวผสมกับขมิ้น

วิธีทำน้ำปูนใส

ใช้ปูนแดง 1 ส่วน น้ำสะอาด 20 ส่วน คนให้เข้ากัน รอสักครู่จะมีน้ำใสลอยขึ้นมา ส่วนที่เป็นปูนแดง จะตกตะกอนอยู่ข้างล่าง เวลานำไปใช้ตักเฉพาะน้ำใสๆ เรียกว่า น้ำปูนใส

อย่างไรก็ตาม น้ำปูนใสที่ทำใหม่ๆ จะมีคุณสมบัติดีกว่าน้ำปูนใส ที่ทำเก็บไว้นานแล้ว

yengo หรือ buzzcity

ข้าวต้มน้ำวุ้น

ข้าวต้มน้ำวุ้น



ขนมนี้เป็นขนมโบราณ ห่อด้วยใบเตยได้แต่ไม่สวย เพราะขนาดใบเตยไม่เท่ากัน จึงนิยมห่อด้วยใบตองมากกว่า เพราะกำหนดขนาดได้ การห่อนั้นต้องห่อให้แน่น มิฉะนั้น เวลาต้มขนมจะแตก และน้ำเข้าไปทำให้ไม่เหนียว

ส่วนผสมข้าวต้มน้ำวุ้น

ข้าวเหนียวเขี้ยวงู 1 ถ้วยตวง
น้ำใบเตย 2 ถ้วยตวง

ส่วนผสมน้ำเชื่อม

น้ำตาลทราย 1 ถ้วยตวง
น้ำลอยดอกมะลิ 1 ถ้วยตวง
ใบตอง
ไม้กลัด

วิธีทำข้าวต้มน้ำวุ้น

1. ล้างข้าวเหนียวให้สะอาด แช่กับน้ำใบเตยพักไว้ 1 ชั่วโมง
2. ฉีกใบตองขนาดกว้าง 1 นิ้ว จับปลายให้เป็นรูปกรวย นำข้าวเหนียวใส่ลงในกรวย
3. พับทบจนสุดใบตอง ให้เป็นลักษณะสามเหลี่ยม ใช้ไม้กลัด กลัดตรงกลางให้แน่น
4. ต้มในน้ำเดือด ด้วยไฟกลาง ประมาณ 30 นาที หรือจนกว่าข้าวเหนียวสุก
5. ผสมน้ำตาลทรายกับน้ำลอยดอกมะลิเข้าด้วยกัน ตั้งไฟเคี่ยวให้เดือดประมาณ5 นาที ยกลงทิ้งไว้ให้เย็น อบด้วยควันเทียนประมาณ 1 -3 ชั่วโมง
6. เมื่อจะเสิร์ฟแกะข้าวเหนียวออกจากใบตองใส่ถ้วย ใส่น้ำเชื่อม และน้ำแข็งก้อน เล็ก ๆ

yengo หรือ buzzcity

ขนมโคกะทิสด ขนมไทย

ขนมโคกะทิสด ขนมไทย




เป็นขนมโบราณที่ไม่ค่อยเห็น การอบไส้ขนมทุกชนิดด้วยควันเทียน ต้องให้ขนมเย็นก่อนเสมอจุดสำคัญของขนมนี้คือกะทิต้องขาวสวย เหมือนกะทิสด น้ำกะทิจะมีรสเค็มหวานเล็กน้อย สมัยโบราณทำเฉพาะสีขาว แต่ปัจจุบันทำเป็นสีต่างๆ เพื่อให้ชวนรับประทาน


ส่วนผสมไส้ขนมขนมโคกะทิสด ขนมไทย

มะพร้าวทึนทึกขูดฝอย 1 ถ้วยตวง
น้ำตาลมะพร้าว 1/2 ถ้วยตวง
น้ำเปล่า ¼ ถ้วยตวง


ส่วนผสมน้ำกะทิ

หัวกะทิ 2 ถ้วยตวง
น้ำตาลทราย 1 ½ ถ้วยตวง
แป้งข้าวเจ้า 1 ช้อนโต๊ะ
เกลือป่น 1 ช้อนชา


ส่วนผสมแป้ง

แป้งข้าวเหนียว 1 ½ ถ้วยตวง
น้ำร้อน ½ ถ้วยตวง


วิธีทำขนมโคกะทิสด ขนมไทย

1. นวดแปังข้าวเหนียวกับน้ำร้อน ให้แป้งเนียนและนุ่ม ปั้นเป็นก้อนกลมๆ ขนาด
เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมคร พักไว้
2. ผสมน้ำตาลมะพร้าวกับน้ำเปล่า พอน้ำตาลละลายใส่มะพร้าว กวนให้เข้ากันตั้งไฟกลางค่อนข้างอ่อน กวนประมาณ 5 นาที หรือจนกว่าไส้ขนมจะเเห้ง
3. ปั้นเป็นกลมๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เชนติเมตร อบควันเทียน 20-30 นาที
4. แผ่แป้งที่ปั้นไว้แล้วให้บาง วางไส้ตรงกลางหุ้มให้มิด คลึงเป็นก้อนกลมๆ
5. ต้มน้ำให้เดือด นำขนมที่ใส่ไส้แล้วลงต้มให้สุก พอลอย ตักขึ้นผ่านน้ำเย็นเพื่อป้องกันไม่ให้แป้งติดกัน
6. ผสมหัวกะทิ แป้งข้าวเจ้า เกลือป่น น้ำตาลทราย ใส่หม้อ คนให้แป้งละลายตั้งไฟกลาง คนไปเรื่อยๆ พอเดือดเล็กน้อย หรือควันขึ้นรีบยกลงทันที
7. ตักขนมโคกะทิสดใส่ถ้วย เมื่อจะรับประทาน ราดหน้าด้วยน้ำกะทิ

yengo หรือ buzzcity

น้ำตาลสำหรับทำขนมไทย

น้ำตาลสำหรับทำขนมไทย



น้ำตาลสำหรับทำขนมไทยนั้นมีหลายประเภทแล้วแต่ว่าขนมที่เราทำนั้นเหมาะสมที่จะใช้น้ำตาลอะไร ประเภทของน้ำตาล ได้แก่

น้ำตาลทรายขาว

เป็นน้ำตาลที่ผลิตจากอ้อย โดยเริ่มจากการสกัดน้ำอ้อย แล้วผ่านกระบวนการผลิตเป็นน้ำตาลทรายดิบ ทำให้ตกผลึก จะได้น้ำตาลทรายขาว


น้ำตาลอ้อย

ผลิตจากอ้อย ได้แก่ น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลอ้อย ถ้าน้ำตาลที่เคี่ยวแล้ว ใส่ลงในหลุมหรือพิมพ์รูปร่างต่างๆ เรียกว่า น้ำตาลงบ


น้ำตาลมะพร้าว

ทำจากมะพร้าว เรียกว่าน้ำตาลปี๊บ โดยใช้น้ำหวานจากจั่นมะพร้าวเป็นวัตถุดิบ น้ำตาลมะพร้าว มีคุณภาพดี สีนวล ละเอียด กลิ่นหอม ไม่เหลว


น้ำตาลโตนด

เป็นน้ำตาล ที่ทำมาจาก น้ำตาลสด จากปลีตาล น้ำตาลโตนด มีลักษณะแห้ง และแข็งกว่า น้ำตาลมะพร้าว

yengo หรือ buzzcity

ซ่าหริ่ม

ซ่าหริ่ม



ซ่าหริ่มเป็นขนมไทยรสชาติหอมมัน อร่อยด้วยเส้นที่เหนียวนุ่ม ต้องมาจากกะทิที่คั้นสดตามแบบขนมไทย

ส่วนผสม

•แป้งซาหริ่ม 1 ถ้วย
•น้ำใบเตยคั้นข้นๆ 1/2 ถ้วย
•น้ำเปล่า 5 ถ้วย
•พิมพ์ สำหรับ กด

ส่วนผสมน้ำกะทิ

•หัวกะทิ 2 ถ้วย
•น้ำตาลทราย 2 ถ้วย
•ผสมน้ำตาล หัวกะทิ คนจนน้ำตาลละลาย กรองด้วยผ้าขาวบาง นำไปอบควันเทียนให้หอม


วิธีทำ

ผสมแป้งซ่าหริ่ม น้ำ น้ำใบเตย เข้าด้วยกัน กรองด้วยผ้าขาวบาง ใส่
กระทะทอง ตั้งไฟกลาง กวนแป้งสุก รีบตักใส่พิมพ์ กดเป็นเส้นลงในน้ำเย็นจน
หมด เทใส่ผ้าขาวบาง ทำให้สะเด็ดน้ำ ใส่น้ำแข็งพักไว้

เวลากินให้ ตักซ่าหริ่มใส่ถ้วย ใส่น้ำกะทิ น้ำแข็ง เสิร์ฟได้ทันที

yengo หรือ buzzcity

ขนมไทยสูตรข้าวเหนียวตัด หรือข้าวเหนียวหน้านวล

ขนมไทยสูตรข้าวเหนียวตัด



ขนมไทยสูตรนี้บางตำราจะเรียกว่า ข้าวเหนียวหน้านวล จุดเด่นจะอยู่ที่ความอร่อยของหน้ากะทิที่ต้องมันและถั่วดำต้องสุก

ส่วนผสมตัวข้าวเหนียว

ข้าวเหนียวเขี้ยวงู 1/2 ถ้วยตวง
หางกะทิ 1/2 ถ้วยตวง
ส่วนผสมหน้ากะทิ
หัวกะทิ 1/2 ถ้วยตวง
แป้งข้าวเจ้า 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลทราย ¼ ถ้วยตวง
เกลือป่น 1 ช้อนชา
ถั่วดำต้มสุก ¼ ถ้วยตวง

วิธีทำขนมไทยสูตรข้าวเหนียวตัด

1. นำข้าวเหนียวซาวให้สะอาดใส่ถาด ใส่หางกะทินำไปนึ่ง ให้สุก ประมาณ 10 นาทีด้วยไฟกลาง
2. ผสมหัวกะทิ แป้งข้าวเจ้า น้ำตาล เกลือ คนให้เข้ากัน
3. เมื่อข้าวเหนียวสุก นำส่วนผสมหน้าในข้อ 2 ราดให้เต็มถาด แล้วนึ่งต่ออีก จนหน้าขนมแตกมันประมาณ 15 นาที
4. สุกแล้วยกลง นำถั่วดำตกแต่ง หรือจะใส่ทอดหยอดให้สวยงามด้วยก็ได้ รอจนข้าวเหนียวตัดเย็นแล้วตัดออกเป็นชิ้น

yengo หรือ buzzcity

ข้าวเหนียวถั่วดำ

ข้าวเหนียวถั่วดำ


การทำข้าวเหนียวถั่วดำนั้น การต้มถั่วดำเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะถ้าถั่วต้มไม่สุกดี ขนมก็จะเสียรสชาติไปเลย จึงจำเป็นต้องต้มให้สุกเสียก่อนที่จะต้มลงไปพร้อมกับน้ำกะทิ เพราะถ้าใส่ถั่วดิบลงไปต้มพร้อมกับน้ำกะทิ ถั่วจะไม่สุก นี่เป็นเคล็ดลับหนึ่งในการทำขนมที่มีถั่วเป็นส่วนประกอบ

ส่วนผสมข้าวเหนียว

1. ข้าวเหนียวขาว 1/2 กิโลกรัม
2. กะทิข้นๆ 2 ถ้วยตวง
3.น้ำตาลทราย 3 ถ้วยตวง
4. เกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ

1. นำข้าวเหนียวไปแช่น้ำไว้ 6 ชั่วโมงแล้วนึ่งให้สุกดี
2. นำกะทิ น้ำตาลทราย เกลือป่น พร้อมกันแล้วนำไปมูนกับข้าวเหนียว แล้วคนให้ข้าวเหนียวกระจาย (ด้วยเวลาอันรวดเร็ว) ให้ส่วนผสมเข้ากัน ปิดฝาภาชนะที่มูนไว้

ส่วนผสมถั่วดำ

1. ถั่วดำ 1/2 กิโลกรัม
2. น้ำกะทิ 4 ถ้วยตวง
3. น้ำตาลทราย 2 ถ้วยตวง

วิธีทำ

1. ล้างถั่วให้สะอาด แช่น้ำไว้ประมาณ 6 ชั่วโมง
2. นำถั่วดำต้มเทน้ำทิ้ง 1 ครั้ง ต้มต่ออีกครั้งจนสุกดี
3. ต้มถั่วกับน้ำกะทิ พอกะทิแตกมันดี เติมน้ำตาลทราย ต้มต่อไปจนน้ำตาลละลายและเข้ากันดี ยกลง ตักเสิร์ฟคู่กับข้าวเหนียวมูน
สูตรนี้รับประทานได้ 6-8 คน

yengo หรือ buzzcity

ขนมไทยสูตรครองแครงกะทิสด

ขนมไทยสูตรครองแครงกะทิสด


ขนมนี้เป็นขนมไทยโบราณ ปัจจุบันจะทำตัวครองแครงกันไม่เป็น ต้องซื้ออย่างเดียว แต่ถ้าทำเองได้ ก็จะดีเพราะทำไม่ยาก และขนมจะเหนียวดีให้ลองทำกันดู

ส่วนผสมตัวครองแครง

แป้งข้าวเจ้า 1 ถ้วยตวง
แป้งมัน ¼ ถ้วยตวง
แป้งท้าวยายม่อม 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำเปล่า 1 ถ้วยตวง

ส่วนผสมน้ำกะทิ

หัวกะทิ 2 ถ้วยตวง
หางกะทิ 1 ½ ถ้วยโต๊ะ
แป้งข้าวเจ้า 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลทราย ½ ถ้วยตวง
เกลือป่น 1 ½ ช้อนชา
งาขาวคั่วบุบพอแตก 2 ช้อนโต๊ะ

ส่วนผสมแป้งนวล

แป้งข้าวเจ้า 2 ช้อนโต๊ะ
แป้งมัน 2 ช้อนโต๊ะ

ส่วนผสมอื่นๆ

งาขาวและดำคั่ว บุบพอแตกอย่างละ 1 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำตัวครองแครง

1. ผสมแป้งทั้ง 3 ชนิดเข้าด้วยกัน ใส่กระทะทอง ค่อยๆ เทน้ำใส่จนหมด
2.นำไปกวนพอสุก ตักขึ้นพักไว้ให้อุ่น
3. นำไปนวดในภาชนะที่ใส่แป้งนวลไว้แล้ว นวดให้แป้งเนียน ประมาณ 10 นาที
4. ปั้นเป็นก้อนกลมๆ กดลงบนพิมพ์ครองแครง พักไว้ ใส่ในภาชนะที่ใส่แป้งนวลไว้
5. นำไปลวกในน้ำเดือดผ่านน้ำเย็นพักไว้ ให้สะเด็ดน้ำ

วิธีทำน้ำกะทิ

1. ผสมกะทิ แป้งข้าวเจ้า น้ำตาลทราย และเกลือป่น ในหม้อหรือกระทะทอง
2. นำไปขึ้นตั้งไฟ คอยคนอย่าให้แป้งเป็ดเม็ด เดือดแล้วใส่ครองแครง คนให้เข้ากัน ใส่หัวกะทิยกลง
3. ก่อนจะเสิร์ฟครองแครงกะทิสด ให้โรยด้วยงาดำ งาขาว เพื่อความสวยงามและคุณค่าอาหารด้วย

yengo หรือ buzzcity

ขนมปลากริมไข่เต่า ขนมไทยโบราณ

ขนมปลากริมไข่เต่า ขนมไทยโบราณ


ขนมปลากริมไข่เต่านี้เป็นขนมไทยโบราณ เดิมเรียกว่า ขนมแชงมา และขนมจะแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนเค็มและส่วนหวาน ซึ่งเรียกว่า ตัวขนมและหน้าขนม

ส่วนผสมแป้ง

แป้งข้าวเจ้า 1 ถ้วยตวง
แป้งท้าวยายม่อม 1 ช้อนโต๊ะ
แป้งมัน 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำเปล่า 1 ถ้วยตวง

ส่วนผสมแป้งนวล

แป้งมัน 2 ช้อนโต๊ะ
แป้งข้าวเจ้า 2 ช้อนโต๊ะ

ส่วนผสมตัวขนม

หางกะทิ 1 ถ้วยตวง
น้ำตาลมะพร้าว ½ ถ้วยตวง
แป้งท้าวยายม่อม 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำสำหรับละลายแป้ง ¼ ถ้วยตวง
ใบเตยตัดท่อนยาว 3 นิ้ว 2 ใบ

วิธีทำ

1. ผสมแป้งนวลในถ้วยพักไว้ สำหรับเวลาปั้นไม่ให้แป้งติดมือ
2. ผสมแป้งข้าวเจ้า แป้งท้าว แป้งมัน ลงในกระทะทอง ค่อยๆ ใส่น้ำทีละน้อย จนหมดคนให้ส่วนผสมเข้ากัน
3. นำไปตั้งไฟกวนด้วยไฟกลางค่อนข้างอ่อน จนแป้งเป็นก้อน เอาใส่ในถาดที่โรยแป้งนวล (เคล็ดลับ การกวนแป้งอย่าให้สุกมาก แป้งจะแข็งนวดยาก ต้องกวนให้มีความดิบอยู่บ้าง ประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ แป้งจะสวย)
4. พอแป้งอุ่นนวดให้เนียน ถ้าแป้งติดมือหรือติดภาชนะให้ใช้แป้งนวลโรย
5. ปั้นแป้งเป็นตัวยาวๆ หัวรีท้ายรี ขนาดเล็กๆ ซึ่งครึ่งหนึ่งใช้ทำตัวขนม อีกครึ่งปั้นเป็นก้อนกลมเล็กน้อยคล้ายไข่เต่า สำหรับทำหน้าขนม

วิธีทำตัวขนม

1. นำหางกะทิ น้ำตาลมะพร้าว ใบเตยใส่หม้อ ตั้งไฟพอเดือด
2. ขณะที่หางกะทิเดือด ค่อยๆ เทแป้งท้าวยายม่อมละลายน้ำลงไป
3. ใส่ตัวแป้งที่ลวงแล้วลงไป คนให้เข้ากัน ยกลงพักไว้

วิธีทำหน้าขนม

1. นำหัวกะทิ เกลือ ใบเตย ใส่หม้อตั้งไฟ ให้เดือด
2. ใส่ตัวแป้งที่ลวกแล้วอีกส่วนหนึ่งลงไปคนให้เข้ากัน พอเดือดยกลง เมื่อจะเสิร์ฟ ตักขนมทั้ง 2 ชนิด ใส่ในถ้วยเดียวกัน ถ้าคนรับประทานชอบหวาน ให้ใส่ตัวขนมมากๆ ถ้าชอบเค็มใส่หน้ามาก ๆ

yengo หรือ buzzcity

ขนมหยกมณี

ขนมหยกมณี


ขนมหยกมณีเป็นขนมที่ทำจากเม็ดสาคู และปัจจุบันมีสาคูสีเขียว และสีอื่นๆ ขาย ถ้าใช้สาคูสีเขียวไม่ต้องแช่ด้วยน้ำใบเตยถ้าเป็นสีขาวจึงจะแช่ด้วยน้ำใบเตย ในระหว่างการทำถ้าสาคูยังไม่สุก อย่าใส่น้ำตาลทราย จะทำให้สาคูไม่สุก ควรเลือกมะพร้าวทึนทึกทีค่อนข้างอ่อน จะทำให้ขนมอร่อยขึ้น

ส่วนผสมขนมหยกมณี

สาคูเม็ดเล็ก ½ ถ้วยตวง
น้ำใบเตย 3/4 ถ้วยตวง
น้ำตาลทราย ½ ถ้วยตวง
มะพร้าวทึนทึกขูดฝอย 1 ถ้วยตวง
เกลือป่น 1/4 ช้อนชา

วิธีทำขนมหยกมณี

1. ผสมมะพร้าวทึนทึกกับเกลือให้เข้ากัน นึ่งไฟกลาง 5- 10 นาที
2. ตั้งกระทะทองใส่น้ำใบเตย และน้ำตาลทราย 1/4 ถ้วยตวง เคี่ยวให้เดือด
3. ใส่เม็ดสาคูลงไป กวนพอสุกเป็นตากบเล็กน้อย ใส่น้ำตาลทรายที่เหลือลงไปกวนต่อจนสาคูสุกใส
4. เทขนมที่สุกแล้วลงในมะพร้าวที่นึ่งแล้วในข้อ 1.
5. ตัดเป็นชิ้นพอคำ คลุกกับมะพร้าวให้ทั่วใส่ถ้วยเล็ก ๆ

yengo หรือ buzzcity

ขนมน้ำดอกไม้

ขนมน้ำดอกไม้


ขนมน้ำดอกไม้

ขนมน้ำดอกไม้เป็นขนมไทยที่ชื่อไม่คุ้นสำหรับใครหลายคน บางคนอาจจะยังไม่เคยกิน สมัยนี้อาจจะหากินยากสักหน่อย

ส่วนผสม

แป้งเท้ายายม่อม 1 ช้อนโต๊ะ
แป้งข้าวเจ้า 1 ถ้วย
น้ำตาลทราย 3/4 ถ้วย
น้ำปูนใส 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำลอยดอกมะลิ 1 3/4 ถ้วย
ถ้วยตะไลสำหรับใส่ขนม

วิธีทำ

1. ให้นำ น้ำลอยดอกมะลิ น้ำตาล ลงในหม้อ ตั้งไฟ คนๆให้น้ำตาลละลาย พอเดือดให้ยกลง
กรองน้ำเชื่อมผ่านผ้าขาวบางให้สะอาด แล้วทิ้งไว้ให้เย็น จะได้น้ำเชื่อม

2. ใส่แป้งข้าวเจ้า แป้งเท้ายายม่อม ลงในชามผสม ใส่น้ำปูนใสและน้ำเชื่อมทีลงไปละน้อย จากนั้นนวดแป้งจนรวมตัวเป็นก้อน หยดใส่น้ำเชื่อม นวดต่อไปเรื่อยๆจนแป้งเหนียว ใส่น้ำเชื่อมที่เหลือจนหมด นำไปกรอง จากนั้นหมักแป้งไว้ 1 ชั่วโมง

3. ใส่น้ำในลังถึง ตั้งไฟให้เดือด แล้วนำถ้วยตะไลไปนึ่งให้ร้อนจัด แล้วใส่แป้งลงไป จากนั้นปิดฝาลังถึงแต่ไม่ต้องปิดสนิท

4. ใส่แป้งให้เต็มถ้วย นึ่งนานประมาณ 3 นาที พอหน้าขนมเริ่มบุ๋ม เบาไฟลง
นึ่งต่ออีกประมาณ 15 นาที

***ถ้าต้องการทำให้ขนมบุ๋มตรงกลางมากๆ ให้เทแป้งออกหลังจากนึ่ง พอแป้ง
จับขอบถ้วยก็เปิดฝา

yengo หรือ buzzcity

ขนมถ้วยตะไล ขนมไทย

ขนมถ้วยตะไล ขนมไทย



ขนมถ้วยตะไลเป็นขนมไทยที่ทำง่ายและเป็นที่นิยมของคนทุกภาค

ส่วนผสม

แป้งข้าวเจ้า 2 ถ้วย
น้ำเปล่า 5 ถ้วย
น้ำตาลทราย 1 ถ้วย
น้ำใบเตย 1/2 ถ้วย
มะพร้าว 1 ลูก
แป้งมัน 4 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำขนมถ้วยตะไล

1. นวดแป้งข้าวเจ้ากับน้ำ 1 ถ้วย จนเข้ากันดี
2. ละลายน้ำตาลกับน้ำเปล่าที่เหลือจนน้ำตาลละลาย กรองด้วยผ้าข้าวบาง นำไปใส่แป้งที่นวดไว้ แล้วใส่ใบเตยคนจนเข้ากันเป็นเนื้อเดียว
3. นำถ้วยตะไลนึ่งในลังถึงจนร้อนได้ที่ จากนั้นตักแป้ง ที่เตรียมไว้ใส่ถ้วยตะไลประมาณครึ่งถ้วย นึ่งไฟแรง 10 นาที
4. นำหัวกะทิผสมเกลือและแป้งมันให้เข้ากัน ตักราดหน้าขนมในถ้วยตะไล นึ่งต่อจนสุกดี ยกลงจากเตา

yengo หรือ buzzcity

ขนมตาล ขนมไทย

ขนมตาล ขนมไทย



ส่วนผสม

1. แป้งข้าวเจ้า 2 ถ้วย
2. ลูกตาลสุก 2 ผล
3. น้ำตาลปี๊บ 1 กิโลกรัม
4. มะพร้าว 1 ผล
5. เกลือป่น
6. ถ้วยตะไลหรือกระทงใบตอง

วิธีทำ

1. ปอกเปลือกลูกตาลออก แล้วยีกับตะแกรง เวลายีต้องหยอดน้ำใส่เม็ดตาลเสมอเพื่อให้เนื้อตาลจะได้ออกจากเม็ดจนหมด
2. กรองเนื้อลูกตาลด้วยผ้าขาวบาง ด้วยการเทใส่ถุงผ้าผูกปากถุงแขวนไว้ น้ำจะไหลออกจากเนื้อตาลแห้งเอง
3. เอาเนื้อตาลออกจากถุง เคล้าผสมกับแป้งให้เข้ากันดี ตั้งผึ่งไว้ให้แป้งขึ้น
4. เมื่อแป้งขึ้นแล้ว ให้ผสมกับน้ำตาล เกลือป่นเล็กน้อย ตักใส่ถ้วยตะไลหรือจะเจียนใบตองก็ได้ ถ้วยละหรือห่อละ 2 ช้อนโต๊ะ
5. ขูดเนื้อมะพร้าวโรยหน้า แล้วห่อให้เรียบร้อย จัดเรียงใส่ลังถึง
6. นึ่งด้วยไฟแรงจัด ให้ขนมตาลสุกฟู

yengo หรือ buzzcity

ขนมดอกโสน ขนมไทย

ขนมดอกโสน ขนมไทย



โสน มีหลายชื่อ คือ โสนหิน โกนกินดอก โสนน้ำ โสนหนอง ภาคเหนือเรียก ผักฮองแฮง โสนเป็นไม้สกุลเดียวกับแค พบในพื้นที่น้ำขังสูงประมาณ 1-4 เมตร ออกดอกเป็นช่อที่โคนกิ่งและปลายยอดคล้ายดอกถั่ว ดอกสีเหลือง โสนมีรสจืดและมัน ดอกโสน 100 กรัม ให้พลังงาน 400 กิโลแคลอรี มีเส้นใย 309 กรัมแคลเซียม 51 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 56 มิลลิกรัม เหล็ก 8.2 มิลลิกรัม วิตามินเอ 336 I.U. วิตามินบีหนึ่ง 0.26 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.40 มิลลิกรัม ไนอะซิน 2.8 มิลลิกรัม วิตามินซี 24 มิลลิกรัม
ดอกโสนนั้นนิยมนำดอกมาใช้ทำเป็นอหาร เช่น แกงส้ม ยำ ทอดใส่ไข่ หรือลวกน้ำพริกจิ้ม แต่รู้กันหรือเปล่าว่า นอกจากอาหารคาวแล้ว ยังนำมาทำเป็นขนมได้อีกด้วย

ส่วนผสม ขนมดอกโสน ขนมไทย

ดอกโสน 2 ถ้วยตวง
แป้งข้าวเจ้า 2 ถ้วยตวง
หัวกะทิ ¾ ถ้วยตวง
น้ำตาลทราย ¾ ถ้วยตวง
เกลือป่น ½ ช้อนชา
มะพร้าวทึนทึก 1 ถ้วยตวง

วิธีทำขนมดอกโสน ขนมไทย

1. เลือกดอกโสนที่บาน เด็ดก้านออกล้างให้สะอาด พักไว้ให้สะเด็ดน้ำ
2.ผสมหัวกะทิกับน้ำตาลทราย เกลือป่น ใส่หม้อตั้งไฟกลางพอน้ำตาลทรายละลายยกลง พักไว้ให้เย็น
3.ร่อนแป้งข้าวเจ้าลงในอ่างผสมที่มีดอกโสน เคล้าเบาๆ พรมน้ำกะทิเคล้าเบาๆ สลับกับร่อนแป้งข้าวเจ้าจนหมดใส่มะพร้าวทึนทึก (สังเกตแป้งจะจับติดกับดอกโสนสม่ำเสมอเมื่อแป้งมีความชื้้นปานกลาง)
4. นำไปนึ่งในลังถึง โดยปูผ้าขาวบางลง เทขนมลงตรงกลางผ้า นึ่งด้วยไฟแรงและน้ำเดือดพล่านประมาณ 12 นาที
5.นึ่งมะพร้าวทึนทึกนาน 5-10 นาที และแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่ 1 ใส่ในขนมดอกโสน และส่วนที่ 2 สำหรับโรยหน้าขนม)
6.จัดใส่จานเสิร์ฟกับมะพร้าวทึนทึก โรยหน้าด้วยน้ำตาลทรายและเกลือป่น เสิร์ฟ

yengo หรือ buzzcity

ขนมขี้หนู ขนมไทย

ขนมขี้หนู ขนมไทย




ขนมขี้หนู ขนมไทย ขนมนี้มีหลายชื่อ เช่น ขนมขี้หนู ขนมทราย และขนมละอองฟ้า เทคนิคสำคัญที่สุดในการทำขนมขี้หนู คือ ขณะใส่น้ำเชื่อมลงในแป้ง โรยน้ำเชื่อมให้ทั่วแป้ง และห้ามคนโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้ขนมเสียไม่ฟู และการอบขนมด้วยควันเทียน นอกจากจะอบขณะอบขนมเย็นแล้วยังสามารถใส่ดอกมะลิ หรือกุหลาบมอญลงไปด้วยก็ได้หรือถ้าต้องการจะใส่สีต่างๆ ให้หยดสีลงไปในน้ำเชื่อม

ส่วนผสมตัวแป้งขนมขี้หนู ขนมไทย

แป้งข้าวเจ้า 1 1/4 ถ้วยตวง
กะทิ 1/4 ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม
น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วยตวง
น้ำสะอาด 12 ถ้วยตวง
เกลือป่น 1/4 ช้อนชา
มะพร้าวทึนทึกขูดฝอย า1ถ้วยตวง
สีตามชอบ


วิธีทำขนมขี้หนู ขนมไทย

1 เคี่ยวน้ำตาลทรายกับน้ำลอยดอกมะลิ ให้เหลือ 3/4 ถ้วย ก่อน ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น
2 เทแป้งใส่ชาม ค่อยๆ เทกะทิลงในเนื้อแป้งทีละน้อย คนให้เข้ากันจนได้เนี้อแป้ง ออกมามีลักษณะเปียกหมาดๆ
3 ยีแป้งด้วยที่ร่อนแปัง 2-3 ครั้ง บนผ้าขาวบาง.
4. นำไปนึ่ง ใช้ไฟแรง นึ่งประมาณ 25 นาที
5. นำแป้งที่นึ่งสุกใส่ภาชนะ ค่อยๆ เทน้ำเชื่อมราดลงให้ทั่วเนื้อแป้งห้ามคนทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที
6. ใช้ส้อม ค่อยๆ เกลี่ยแป้งให้ฟูขึ้น นำไปอบควันเทียน
7. โรยหน้าด้วยมะพร้าวทึนทึกขูดฝอยคลุกเกลือ เพียงเท่านี้ก็จะได้ขนมขี้หนู ขนมแบบไทยๆ สีสันสดใส และแสนอร่อยไว้ทั้งรับประทานเองหรือจำหน่ายเป็นรายได้เสริม

yengo หรือ buzzcity

การทำน้ำลอยด้วยดอกมะลิ

การทำน้ำลอยด้วยดอกมะลิ


สมัยโบราณ นิยมใช้น้ำลอยดอกมะลิในการทำขนม การลอยน้ำดอกมะลิให้หอมนั้นมีวิธีการดังนี้คือ

วิธีทำน้ำลอยดอกมะลิ

1.ใช้น้ำสะอาด ใส่ภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด
2.ดอกมะลิที่ใช้ลอยต้องเป็นมะลิที่ปลูกเอง ไม่ได้ฉีดยาฆ่าแมลง
3.การเก็บดอกมะลิ ต้องเก็บประมาณ 6 โมงเย็น
4.เด็ดส่วนที่เป็นกลีบเลี้ยงออก ผ่านน้ำเบาๆ เพื่อล้างฝุ่น ใช้นิ้วชี้แตะที่ปลายดอกเบาๆ เพื่อให้กลีบแยกจากกัน ทำเช่นนี้จนหมดทุกดอกใส่ลงไปในน้ำ ปิดฝาให้สนิท
5.รุ่งเช้าประมาณ 6-7 โมงเช้า ตักดอกมะลิออกให้หมดใช้เฉพาะน้ำ น้ำจะหอม

ข้อควรระวังจะต้องตักดอกมะลิออกในตอนเช้า ถ้าทิ้งไว้ มะลิจะช้ำ เป็นเหตุให้น้ำที่ลอยดอกมะลิไว้ไม่หอมด้วย

yengo หรือ buzzcity

เคล็ดลับในการทำขนมไทย กะทิที่ใช้ทำขนมไทย

เคล็ดลับในการทำขนมไทย กะทิที่ใช้ทำขนมไทย



กะทิที่ใช้ทำขนมไทยนั้น สมัยโบราณ ใช้มะพร้าวขูด โดยใช้มะพร้าวขูดขาว เพราะต้องการให้กะทิคั้นออกมาเป็นสีขาว

การคั้นกะทิ
เพื่อให้ได้หัวกะทิข้นๆ ควรคั้นด้วยน้ำอุ่นๆ ใส่น้ำน้อยๆ จะเป็นหัวกะทิ ครั้งต่อๆ ไป จะเป็นหางกะทิ โดยทั่วไปนิยมคั้น 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 คือ หัวกะทิ ครั้งที่ 2 คือ หางกะทิชนิดข้น และ ครั้งที่ 3 จะเป็นหางกะทิ

เป็นที่น่าสังเกตว่า กะทิคั้นจากมะพร้าวจะหอมและอร่อยกว่ากะทิสำเร็จรูป
แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อความสะดวกในการซื้อหา ถ้าต้องใช้กะทิสำเร็จรูป อย่าลืมเขย่ากล่องก่อนใช้ทุกครั้ง

yengo หรือ buzzcity

กล้วยบวชชี

กล้วยบวชชี



กล้วยบวชชีเป็นขนมไทยพื้นบ้านที่หากินได้ง่ายๆ เราสามารถทำกินเองที่บ้านได้ไม่ยากเช่นกัน วิธีการก็ง่ายๆ ดังนี้

ส่วนผสม

กล้วยน้ำว้าสุกพอห่ามๆ 1 หวี
หัวกะทิ 1 ถ้วย
หางกะทิ 1 1/2 ถ้วย
ตาลทราย 1/2 ถ้วย
งาขาวคั่วบุบพอแตก 1 ช้อนโต๊ะ
ข้าวโพดต้มสุกหั่นบางๆ 1/2 ถ้วย
เกลีอป่น 1 ช้อนชา
ใบเตย 3 ใบ

วิธีทำกล้วยบวชชี

1. ต้มกล้วยทั้งเปลือกให้สุกประมาณ 20 นาที
2. ใส่หางกะทิลงในกระทะทอง ใส่ใบเตยที่หั่นเป็นท่อนๆ ใช้ไฟปานกลาง ต้มจนเดีอด
3. ปอกเปลือกกล้วยที่ต้มแล้ว ตัดให้เป็น 4 ชิ้น/ลูก จากนั้นนำไปใส่ลงในหม้อที่ต้มหางกะทิ ต้มต่อใช้เวลาประมาณ 5 นาที
4. ใส่น้ำตาลทรายลงไป คนให้น้ำตาลทรายละลาย ต้มต่อให้เดือด
5. เติมหัวกะทิ เกลือลงไป คนให้เข้ากัน ยกลงจากเตา
6. ตักกล้วยบวชชีใส่ถ้วย โรยหน้าด้วยงาคั่ว ใส่ข้า้วโพดหั่นลงไป

***เคล็ดลับการทำกล้วยบวชชี
-การทำกล้วยบวชชีนั้น ต้องต้มกล้วยทั้งเปลือกก่อน กล้วยจะได้ไม่ดำ ทำให้แลดูน่ากิน
-งาที่จะใช้โรยหน้ากล้วยบวชชีนั้น จะเลือกใช้งาขาวหรืองาดำก็ได้ แต่คั่วแล้วให้บุบพอแตก งาจะได้หอมชวนกิน และกรอบอร่อย
-หลังจากใส่หัวกะทิแล้วต้องรีบยกลงจากเตาทันที จะทำให้กะทิขาวสวย น่ากิน

yengo หรือ buzzcity

เคล็ดลับการทำขนมไทย โดยใช้กระทะทอง

เคล็ดลับการทำขนมไทย โดยใช้กระทะทอง



การทำขนมไทย ต้องใช้กระทะทองเป็นสำคัญ กระทะทองเป็นจุดเด่นของขนมไทย และแสดงความเป็นไทยโดยแท้จริง คุณสมบัติของกระทะทองคือ ทำได้ทั้งอาหารคาวและหวาน โดยไม่เก็บกลิ่น และไม่ไหม้
ใช้กระทะทองเสร็จแล้วต้องมีวิธีทำความสะอาด ให้สวยงามอยู่เสมอ วิธีง่ายๆ คือ ใช้ของที่มีรสเปรี้ยว มีคุณสมบัติเป็นกรด เช่น มะขามเปียก มะนาว สับปะรด น้ำส้มสายชู หรือสิ่งที่มีรสเปรี้ยวอื่นๆ ถูให้ทั่ว แล้วล้างด้วยน้ำยาล้างจานอีกครั้ง กระทะทองหรือภาชนะที่ทำด้วยทองเหลือง จะสะอาดเป็นเงางาม

yengo หรือ buzzcity

ขนมไข่นกกระทา

ขนมไข่นกกระทา



ขนมไข่นกกระทา เป็นของขนมที่ทำการแป้งและมันเทศลักษณะเป็นก้อนกลม สีเหลืองอ่อน ทำง่ายและหาทานได้ทั่วไป

ที่มา

ขนมไข่นกกระทาเป็นขนมที่นิยมมากในอดีตตั้งแต่สมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา แม้กระทั่งรัตนโกสินทร์ ไม่พบบันทึกผู้ประดิษฐ์

นิยมขายตามร้านกล้วยทอด เผือกทอด มันทอด ข้างทาง บางพื้นที่อาจจะเรียกว่า ขนมไข่เต่า

ส่วนประกอบ

แป้งมัน 500 กรัม
แป้งสาลี 2 ช้อนโต๊ะ
มันเทศต้มจนสุก 800 กรัม
น้ำตาลทราย 5 ช้อนโต๊ะ
เกลือป่น 1 1/2 ช้อนชา

ขั้นตอนการทำ

1. ร่อนแป้งมัน, แป้งสาลี, น้ำตาลทราย, และเกลือ เข้าด้วยกัน
2. นำมันเทศไปนึ่งรอเย็น นำไปบดผสมกับแป้งที่ผสมแล้ว ใส่น้ำปูนใสลงไปนิดหน่อย นำไปปั้นเป็นก้อนกลม นำไปทอดจนเหลือง


ที่มา wikipedia

yengo หรือ buzzcity

ข้าวหลาม

ข้าวหลาม



ข้าวหลาม เป็นอาหารว่างชนิดหนึ่ง ที่ชาวล้านนานิยมทำรับประทานกันในฤดูหนาว หรือเมื่อได้ข้าวใหม่ ใช้ไผ่ข้าวหลาม หรือไม้ป้างเป็นกระบอกใส่ข้าวหลาม ข้าวหลามแบบชาวบ้าน ใช้ข้าวสารเหนียวกับน้ำเปล่า และเกลือเท่านั้น สำหรับข้าวหลามที่ทำขายกันโดยทั่วไป จะใส่น้ำกะทิ และเติมถั่วดำ หรืองาขี้ม้อน การทำข้าวหลามตามประเพณีนิยมของชาวล้านนา จะเป็นพิเศษ เพื่อถวายพระในวันเพ็ญเดือนสี่ หรือประมาณเดือนมกราคม ซึ่งเป็นการทานร่วมกับการทานข้าวจี่ และข้าวล้นบาตร (มณี พยอมยงค์, 2542, 828; มนตรี อาจหาญ, สัมภาษณ์, 13 กรกฎาคม 2550)

ส่วนผสม
1. ข้าวสารเหนียว 1 1/2 ลิตร
2. น้ำตาลทราย 400 กรัม
3. กะทิ 3 ถ้วย
4. ถั่วดำ ถั่วดำต้มสุก 2 ถ้วย
5. เกลือป่น 2 ช้อนโต๊ะ
6. ใบเตย 12 ใบ
7. ไผ่ข้าวหลาม 12 กระบอก
8. กาบมะพร้าว 12 ชิ้น

วิธีการทำ

1. ตัดไผ่ข้าวหลามให้ยาวประมาณ 12 นิ้ว ล้างเฉพาะด้านนอกกระบอก ให้สะอาด คว่ำกระบอกลง พักไว้ให้แห้ง
2. ผสมกะทิ น้ำตาล และเกลือ รวมกันแล้วคนให้เข้ากันจนน้ำตาลละลาย
3. ล้างข้าวสารให้สะอาดจนกระทั่งน้ำใส นำข้าวใส่ตระกร้าเพื่อให้สะเด็ดน้ำ ใส่ถั่วดำต้มสุกลงในข้าว คลุกเคล้าให้เข้ากัน
4. นำข้าวที่ผสมถั่วดำแล้วใส่ลงในกระบอก 1 กำมือ กระแทกเบาๆ ทำสลับกันต่อไปเรื่อยๆ จนเต็มกระบอก เลือกด้านบนกระบอกไว้ประมาณ 2 นิ้ว สำหรับปิดจุก
5. เทน้ำกะทิที่ผสมแล้ว ใส่ลงไปในกระบอกข้าวทีละน้อย จนกระทั่งน้ำกะทิท่วมข้าว
6. พับใบเตยเป็นรูปสี่เหลี่ยม ปิดกระบอกข้าวหลาม แล้วนำกาบมะพร้าวม้วนเป็นทรงกลมมาปิดอีกชั้นหนึ่ง ทิ้งไว้ประมาณ 5- 6 ชั่วโมง
7. เผาข้าวหลามกับถ่านไม้ พอกระบอกเหลืองให้หมุนกระบอกข้าวหลาม ใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที สังเกตกระบอกมีสีเหลืองทั่ว แสดงว่าข้าวหลามสุก
8. ทิ้งไว้ให้อุ่น ปอกเปลือก และเหลาให้เปลือกข้าวหลามบางลง เพื่อให้แกะรับประทานได้ง่าย

เคล็ดลับในการปรุง/เลือกส่วนผสม

เคล็ดลับในการปรุง

การเตรียมถั่วดำ ควรแช่ถั่วก่อนต้ม ประมาณ 2 ชั่วโมง
การใส่ข้าวลงในกระบอกไม้ไผ่ ควรจะกระแทกกระบอกเบาๆ เพื่อให้ข้าวเกาะอยู่รวมกันและแน่นเต็มกระบอก
ใส่กะทิลงไปในกระบอกข้าวหลามที่ละน้อย เพื่อไล่ฟองอากาศออกมาให้หมด จนกระทั่วน้ำกะทิท่วมข้าว และ ควรทิ้งไว้ 5-6 ชั่วโมง เพื่อให้ข้าวได้ดูดซับน้ำกะทิไว้ เพื่อให้ได้ข้าวหลามที่มีรสชาติอร่อย

เคล็ดลับในการเลือกส่วนผสม

ควรเลือกข้าวใหม่ คุณภาพดี เมล็ดข้าวสวยไม่หัก
ใช้ไผ่ข้าวหลามเท่านั้น ในการทำกระบอกข้าวหลาม เพราะด้านในกระบอกจะมีเยื่อไม้ เหมาะสำหรับการทำข้าวหลาม


ที่มา http://library.cmu.ac.th/ntic/lannafood/detail_lannafood.php?id_food=106


yengo หรือ buzzcity

ขนมหัวล้าน

ขนมหัวล้าน



ขนมหัวล้าน เป็นประเภทเดียวกับขนมอังกู๊ ที่เรียกว่า อั๋งอี๋ ทำจากแป้งข้าวเหนียว มีไส้ถั่วเขียวที่กวนด้วยกะทิและน้ำตาล นิยมทำแป้งสีเขียวอ่อนซึ่งได้จากน้ำคั้นใบเตย และสีขาวนวลจากสีธรรมชาติของแป้ง

ลักษณะที่ดีของขนมหัวล้าน เนื้อแป้งต้องนุ่มเนียนตลอดทั้งก้อน ไม่แข็งกระด้าง หากเป็นหัวล้านสีเขียวต้องมีกลิ่นหอมจากใบเตยอ่อน ๆ ส่วนไส้ถั่วเขียว ต้องบดละเอียด เนียน หอม หวาน มัน จากน้ำกะทิ


วิธีทำขนมหัวล้าน

วิธีการทำก็ดูไม่ยุ่งยากอะไร เริ่มจากนวดแป้งข้าวเหนียวกับน้ำใบเตยจนเนียนเป็นเนื้อเดียวกันจากนั้นเอามาห่อด้วย ไส้ถั่วเขียวที่กวนกะทิและน้ำตาลเรียบร้อยแล้ว วางลงใบตองที่ตัดเป็นวงกลมขนาดเท่าๆ กับตัวขนม จากนั้นนำไปใส่ลังถึงเพื่อนำไปนึ่ง อย่าลืมทาน้ำมันเพื่อไม่ให้ขนมติดกัน


เคล็ดลับที่ทำให้ขนมอร่อย กะทิต้องคั้นสด ๆ ถึงจะได้ไส้ที่หอมมัน และต้องรับประทานตอนขนมยังนิ่มๆ อยู่ หากวางทิ้งไว้จนแข็ง ไม่ว่าขนมอะไรก็ไม่อร่อย

ปัจจุบันยังหาทานได้ง่าย อาจเพราะทำไม่ยากนัก แต่ร้านที่ทำแล้วรสชาติอร่อย อาจจะต้องลองหา ลองชิม เพราะเดี๋ยวนี้แม่ค้าไม่ค่อยใส่ใจในขั้นตอน และคุณภาพของวัตถุดิบสักเท่าไหร่


ที่มา wikipedia

yengo หรือ buzzcity

ขนมไทยชนิดหนึ่งทำด้วยถั่วเขียวบด ลูกชุบ

ขนมไทยชนิดหนึ่งทำด้วยถั่วเขียวบด ลูกชุบ



ลูกชุบ เป็นขนมไทยชนิดหนึ่งทำด้วยถั่วเขียวบดกวนปั้นเป็นรูปร่างต่างๆระบายสี แล้วนำไปชุบวุ้นให้สวยงาม สีที่ใช้ทำลูกชุบนั้นนอกจากระบายลงบนถั่วเขียวกวนที่ปั้นแล้ว ยังใส่สีลงในถั่วกวนโดยตรงได้อีก เช่น

สีเหลือง สำหรับขนมที่จะปั้นเป็นผลมะปรางใช้ฟักทองนึ่งแล้วยีละเอียดผสมในถั่วกวน
สีแสด เช่นผลมะเขือเทศสีดา ใช้มะละกอสุกยีละเอียดผสมในถั่วกวน
สีชมพู เช่น ชมพู่แก้มแหม่ม ใช้หัวบีทรูทต้มยีละเอียดกรองแต่น้ำผสมในถั่วกวน
สีแดง เช่นผลเชอรี่ ใช้หัวบีทรูทเช่นกัน แต่ใส่ให้มากขึ้น
สีเขียว เช่น พุทรา มะยม ชมพู่เขียว ใช้ใบเตยหั่นละเอียดกรองเอาแต่น้ำ
สีน้ำตาล เช่น ผลลำไย ละมุด ใช้ผงโกโก้ร่อน ผสมในถั่วกวน

อุปกรณ์

- เครื่องปั่น กระทะทองเหลือง

วัตถุดิบ

1. ถั่วเขียวซีกเลาะเปลือกนึ่งสุก 150 ก. (แช่น้ำ 1 คืน)
2. สีผสมอาหารสีแดง 1 ช้อนโต๊ะ
3. สีผสมอาหารสีเขียว 1 ช้อนโต๊ะ
4. สีผสมอาหารสีส้ม 1 ช้อนโต๊ะ
5. น้ำตาลทราย 130 ก.
6. ผงวุ้น 25 ก.
7. น้ำเปล่า 1 ลิตร
8. กะทิ 250 มล.
9. กลิ่นมะลิ 1/2 ช้อนชา
10. ใบของต้นแก้ว 1/2 ถ้วย
* ส่วนผสมสำหรับ 40 ชิ้น

วิธีการทำ

1. นำถั่วนิ่มสุก กะทิ น้ำตาลทราย ปั่นรวมกันจนละเอียด จากนั้นนำไปกวนในกระทะทองเหลืองด้วยไฟอ่อน จนส่วนผสมเริ่มแห้ง พักไว้ให้เย็น
2. ปั้นให้เป็นรูปทรงผลไม้ตามชอบ จากนั้นทาสีให้สวยงาม พักไว้ 10 นาทีเพื่อให้สีแห้ง
3. ผสมผงวุ้น น้ำเปล่า คนให้เข้ากัน พักไว้ 5 นาที ให้ผงวุ้นดูดซึมน้ำให้เต็มที่ เปิดไฟแรงให้น้ำเดือด จากนั้นลดไฟลงอ่อนๆ
4. นำขนมลูกชุบที่ระบายสีแล้วลงชุบในน้ำวุ้นเคลือบให้ทั่วขนม พักไว้ 5 นาที จากนั้นชุบวุ้นใหม่อีกครั้ง (ชุบ 3 รอบ)
5. เมื่อขนมลูกชุบเคลือบวุ้นทั่วดีแล้ว ตกแต่งให้สวยงามด้วยใบของต้นแก้ว เป็นอันเสร็จ

yengo หรือ buzzcity

ลอดช่องสิงคโปร์ หรือ เชนดอล

ลอดช่องสิงคโปร์ หรือ เชนดอล




ลอดช่องสิงคโปร์เป็นขนมที่หวาน หอม อร่อย ทานพร้อมน้ำแข็ง ให้รสชาติถูกใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่
แต่การทำขนมชนิดนี้ให้อร่อย แป้งต้องเหนียว และเมื่อแป้งเนียนแล้ว เวลาคลึงแป้งก็ต้องคลึงให้บาง ขนมนี้ต้องหอมนอก หอมตัวขนมและน้ำด้วยจึงจะถูกต้อง

ส่วนผสมตัวขนม

1. แป้งมัน ½ ถ้วยตวง
2. น้ำเดือดใส่สีเขียว ¼ ถ้วยตวง
3. แป้งนวล 2 ช้อนโต๊ะ

ส่วนผสมน้ำเชื่อม

1. น้ำตาลทราย 1 ½ ถ้วยตวง
2. น้ำดอกมะลิ 1 ½ ถ้วยตวง
3. ขนุนหั่นชิ้นเล็กๆ ยาวๆ ½ ถ้วยตวง

ส่วนผสมกะทิ

1. หัวกะทิ 2 ถ้วยตวง
2. เกลือป่น 1 ช้อนชา

วิธีทำลอดช่องสิงคโปร์

1. ใส่แป้งมันในอ่างผสม ทำแป้งเป็นบ่อตรงกลาง ค่อยๆ เทน้ำร้อนใส่ คนเร็วๆจนแป้งจับตัวเป็นก้อน
2. นวดให้เนียน ถ้าไม่อยากให้แป้งติดมือ แตะแป้งมันเล็กน้อย
3. คลึงแป้งให้เป็นแผ่นบางๆ ตัดให้เป็นเส้นเล็ก ๆ พักไว้
4. ต้มน้ำให้เดือด นำแป้งที่ตัดไว้แล้วลงต้มให้สุก เมื่อแป้งลอยตัวและพอง ตักใส่พักในน้ำเย็น เทใส่กระชอนกรองให้สะเด็ดน้ำ
5. ผสมหัวกะทิกับเกลือ ตั้งไฟอย่างพอเดือด ยกลงพักไว้ให้เย็น
6. ใส่แป้งที่ต้มแล้วลงไปในน้ำกะทิ ข้อ 5.
7. ผสมน้ำตาลทรายกับน้ำดอกมะลิใส่หม้อตั้งไฟเคี่ยว ประมาณ 7-10 นาที ใส่ขนุนยกลงพักไว้ให้เย็น อบควันเทียน 20 - 30 นาที
8. ตักเสิร์ฟใส่ขนมที่อยู่ในกะทิ ใส่น้ำ เชื่อม น้ำแข็ง รับประทานเย็นๆ อร่อยชื่นใจ

yengo หรือ buzzcity

ขนมหวานพื้นบ้านของทางภาคใต้ ขนมลา

ขนมหวานพื้นบ้านของทางภาคใต้ ขนมลา



ขนมลา เป็นขนมหวานพื้นบ้านของทางภาคใต้ ของประเทศไทย ซึ่งทำมาจากแป้งข้าวเจ้า เป็นขนมสำคัญหนึ่งในห้าชนิดที่ใช้สำหรับจัดเพื่อนำไป ถวายพระสงฆ์ในงานประเพณีบุญสารทเดือนสิบซึ่งเป็นงานบุญประเพณีที่สำคัญของจังหวัดในภาคใต้ เช่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลาโดยอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับ ขนมลาปรุงขึ้นเพื่อเป็นเสมือนแพรพรรณเสื้อผ้า

ปัจจุบันขนมลามีจำหน่ายตลอด ทั้งปี ไม่ปรุงเฉพาะในเทศกาลอย่างที่เคยปฏิบัติมา ขนมลามี 2 ชนิดคือลาเช็ดและลากรอบ ขนมลาเช็ดจะใช้น้ำมันน้อย โรยแป้งให้หนา เมื่อสุกพับเป็นครึ่งวงกลม รูปร่างเหมือนแห ลากรอบ นำลาเช็ดมาโรยน้ำตาลแล้วนำไปตากแดด ในปัจจุบันมีการทำลากรอบแบบใหม่ โดยเพิ่มแป้งข้าวเจ้าให้มากขึ้น ใช้น้ำมันมากขึ้น เมื่อแป้งสุกแล้วม้วนเป็นแท่งกลม พักไว้จนเย็นจึงดึงไม้ออก

ประโยชน์

ขนมลา ให้โปรตีนจาก ไข่แดง น้ำตาลจากแป้ง และมีส่วนประกอบของไขมันอยู่ ด้วย
เป็นขนมที่แสดงถึงศิลปะการผลิตที่ประณีตบรรจงอย่างยิ่งจากแป้งข้าวเจ้า ผสม น้ำผึ้ง แล้วค่อย ๆ ละเลงลงบนกระทะน้ำมันที่ร้อนระอุ กลายเป็นแผ่นขนมลาที่มีเส้นเล็กบางราว ใยไหม และสอดสานกันเป็นร่างแห


ส่วนผสม

1. ข้าวสารเจ้า 1 1/2 ลิตร
2. ข้าวสารเหนียว 1/8 ลิตร
3. น้ำตาลทราย 1/2 กิโลกรัม
4. น้ำตาลปี๊บ 1/8 กิโลกรัม
5. น้ำมันสำหรับทากระทะ

เครื่องใช้เฉพาะ

ไข่ต้มใช้เฉพาะไข่แดง 1 ฟอง
กะลาหรือกระป๋องเจาะรูเล็ก ๆถี่ ๆ สำหรับโรยเส้น
ไม้แหลมสำหรับแซะขนม 2 อัน
กระทะก้นแบน (ถ้าไม่มีใช้กระทะก้นมนได้)

วิธีการทำ

1. นำข้าวสารเจ้าและข้าวสารเหนียว ใส่ชามรวมกันซาวรวม กันให้ สะอาด แช่น้ำไว้ 3 ชั่วโมง
2. สงข้าวใส่ตะกร้าที่รองด้วยใบมะละกอ แล้วปิดด้วยใบ มะละกอ เช่น เดียวกัน วางตะกร้าในที่ร่ม ใช้น้ำราดเข้าเย็น ทุกวัน เพื่อให้ ข้าวเปื่อยยุ่ยทิ้งไว้ 3 วัน
3. นำข้าวใส่ครกตำให้ละเอียด หรือจะใช้โม่โม่ให้ละเอียดก็ได้ เมื่อละเอียดแล้วเติมน้ำ คนให้แป้งกระจายตัว กรองด้วยผ้า ขาวบาง แล้วตั้งทิ้งไว้ให้แป้งนอนก้น รินน้ำใสข้างบนออก ทิ้งไป ส่วนแป้งนั้นให้ใส่ห่อผ้าทับน้ำต่อจนแห้ง
4. เชื่อมน้ำตาลทรายและน้ำตาลปี๊บกับน้ำเล็กน้อย ให้เป็น น้ำเชื่อม ข้น ๆ วางพักไว้ให้เย็น
5. เติมน้ำเชื่อมลงในแป้งทีละน้อย นวดให้เข้ากัน ควร นวดนาน ๆ ประมาณ 20 นาที เติมน้ำเชื่อมต่อจนแป้งเหลว เมื่อยกมือขึ้น แป้งจะไหลเป็นสายไม่ขาดก็ใช้ได้
6. ตั้งกระทะบนไฟอ่อน ๆ ใชไข่แดงต้มผสมน้ำมันเช็ดกระทะ ให้ ทั่วเพื่อป้องกันขนม ติดกระทะ ถ้าขนมไม่ติดกระทะ แล้วใช้ น้ำมันเช็ดกระทะเพียงอย่างเดียว
7. เมื่อกระทะร้อน ตักแป้งใส่กะลา โรยเส้นลงบนกระทะโดย ส่ายกะลาให้เป็นวงกลม เมื่อเส้นซ้อนหนาพอควรจึงหยุด โรยพอ
8. เส้นสุกออกสีเหลืองนวล ใช้ไม้แซะพับเป็นรูปสี่เหลี่ยม นำขึ้นจากกระทะ

หมายเหตุ

1. ก่อนตักแป้งใส่กะลาให้คนแป้งเสียก่อนทุกครั้ง ถ้าแป้งนอนก้นเส้นจะขาดได้
2. ถ้าขนมหวานจัดเกินไปเส้นจะขาดขณะที่โรยได้เช่นเดียวกัน

กลเม็ดเคล็ดลับ

ขนมลาจะมีเส้นเล็กละเอียดไขว้ซ้อนกันไปมา เกิดเป็นร่าง แหบาง ๆ แลดูคล้ายใยไหม ขนมที่ทำเสร็จใหม่ ๆ จะกรอบนุ่ม ๆ ถ้าวางไว้ในอากาศหลายชั่วโมงจะเหนียวขึ้น ถ้าชอบกรอบให้นำ ไปผึ่งแดดให้กรอบแล้วเก็บใส่ภาชนะไว้ รสหวานอ่อน ๆ

ที่มา http://www.bantaksin.dsdw.go.th/main/atclaa.php

yengo หรือ buzzcity

มะม่วงกวน

มะม่วงกวน



มะม่วงกวน ถือเป็นขนมทานเล่นชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ ค่อนข้างใส สีออกเหลืองหรือน้ำตาลอมเหลือง มีความเหนียวพอสมควร ทำเป็นรูปวงกลม ดอกไม้ หรือ ม้วนเป็นเกลียว เป็นต้น การทำมะม่วงกวนถือเป็นหนึ่งในวิธีการถนอมอาหารที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ หลักการถนอนอาหารโดยการกวนนั้นมีหลักดังนี้คือ นำเอาผลไม้ที่สุกแล้วมาเคี่ยวผสมรวมกับน้ำตาล โดยอาศัยความร้อนเป็นหลัก ซึ่งในการทำมะม่วงกวนนั้น ถือเป็นการกวนแบบแห้งที่ต้องใช้น้ำตาลในอัตราส่วนมากๆนั่นเอง รสชาดของมะม่วงกวนโดยส่วนใหญ่มักมีรสหวาน หวานอมเปรี้ยว หรือเปรี้ยวจัด โดยเคล็ดลับในการทำมะม่วงกวนให้น่ารับประทาน คือการเลือกสรรมะม่วงที่ไม่สุกจนเกินไป และแนะนำให้ใช้มะม่วงแก้วซึ่งเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายมากที่สุดในท้องตลาด หรือสามารถนำเอามะม่วงหลายๆชนิดมาผสมรวมกันก็ได้ ในความเป็นจริง วิธีการทำมะม่วงกวนนั้นถือว่าไม่มีหลักเกณฑ์หรืออัตราส่วนของส่วนผสมต่างๆที่แน่นอนตายตัว ขึ้นอยู่กับการประยุกต์ ดัดแปลงของแต่ละคน เพื่อให้ได้มะม่วงกวนในรสชาดตามที่ต้องการ

ประโยชน์

เป็นการยืดอายุของมะม่วง ทำให้สามารถเก็บไว้รับประทานได้นานขึ้น
ได้รับประทานมะม่วงในรูปแบบ สี กลิ่น รสชาดที่ต่างไปจากการทานมะม่วงทั่วไป
เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และสร้างรายได้เสริมให้กับผู้ผลิต



ส่วนประกอบของมะม่วงกวน

1. มะม่วงแก้วหรือมะม่วงอื่น ๆ
2. น้ำตาลทราย
3. น้ำตาลทรายกรวด
4. สารส้ม
5. เกลือ
6. น้ำ

ขั้นตอนการทำมะม่วงกวน

คุณสมควรได้เล่าถึงการทำมะม่วงกวนดังนี้ เริ่มตั้งแต่นำมะม่วงแก้วที่สุกพอเหลือง ๆ ปอกเปลือกแล้วแช่ลงในน้ำสารส้มที่เตรียมไว้ประมาณ 3 - 5 นาที แล้ว ตักขึ้นมาจากน้ำพร้อมที่จะสับ วิธีการสับก็สำคัญเช่นกันเพราะจะต้องสับให้เส้นสวยไม่ให้เล็กหรือใหญ่เกินไป เมื่อสับเสร็จพอ 1 กระทะ นำลงใส่กระทะพร้อมน้ำตาลทราย น้ำตาลทรายกรวด ใส่น้ำไม่มากนักกวนไปเรื่อย ๆ ใช้เวลากวนประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง ระหว่างกวนได้สักครึ่งชั่วโมงนำสารส้มใส่ลงไปประมาณก้อนเท่านิ้วหัวแม่มือ คุณสมควรบอกว่าใส่สารส้มแล้วจะทำให้มะม่วงกวนสวยใสและที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือมะม่วงที่ใช้ควรจะเป็นมะม่วงแก้ว และถ้าสุกเกินไปมะม่วงกวนที่ออกมาจะมีสีคล้ำไม่สวย เมื่อกวนเลร็จตักออกใส่ภาชนะที่ทนความร้อน แล้วตากในเช้าวันรุ่งขึ้น

สำหรับการตากนั้นใช้ตากบนแผ่นพลาสติกใสที่วางบนแผงไม้ วิธีการตากนั้นใช้ช้อนกินข้าวนี่แหละตักไม่ให้เต็มช้อนนักใช้สลัดเป็นจังหวะเป็นแถว ตากอย่างนี้ หนึ่งแดดเต็มแล้วเก็บเข้าร่มโดยมีที่เก็บทำเป็นชั้น ๆ ไว้ พอรุ่งเช้าก่อนจะคว่ำพลาสติกเพื่อลอกมะม่วงออกตากนำฟองน้ำที่สะอาดเช็ดฝุ่นละอองเล็กน้อยแล้วคว่ำลงกับแผงไม้แล้วลอกพลาสติกออก แล้วตากอีกหนึ่งแดดจึงเก็บ การเก็บจะต้องเก็บไว้ในที่ร่มก่อนรอให้เย็นแล้วจึงเก็บใส่ถุง ชั่งน้ำหนักที่ต้องการ เช่น หนึ่งกิโลกรัม หรือห้ากิโลกรัม แล้วนำไปขาย แต่สำหรับของคุณสมควรจะมีผู้มารับที่บ้านโดยขายทั้งปลีกและส่ง

สรุป

การทำมะม่วงกวนนั้นนับว่าเป็นภูมิปัญญาที่ทำตกทอดกันมาเป็นเวลานานและยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้ดี และจัดเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนได้อย่างดีทีเดียว ท้ายสุดขอขอบพระคุณ คุณสมควร ผลจริต ที่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ภูมิปัญญาของท้องถิ่นการทำมะม่วงกวน


yengo หรือ buzzcity

ฝอยทอง

ฝอยทอง



อุปกรณ์

- กระทะทองเหลือง ชามผสม กระชอน เทียนหอม

วัตถุดิบ

1. ไข่แดงของไข่เป็ด 3 ฟอง
2. ไข่แดงของไข่ไก่ 2 ฟอง
3. กลิ่นดอกมะลิ ½ ช้อนชา
4. ใบเตย 1 ใบ
5. น้ำตาลทราย 600 ก.
6. น้ำเปล่า 400 มล.
7. เทียนอบ 1 ชิ้น

* ส่วนผสมสำหรับ 2 - 3 ที่

วิธีการทำ

1. นำน้ำเปล่า น้ำตาลทราย ใบเตย กลิ่นมะลิ ลงต้มในกระทะทองเหลือง เปิดไฟแรง ห้ามคนเด็ดขาดไม่อย่างนั้นน้ำตาลจะตกผลึก
2. ตีไข่ไก่และไข่เป็ดให้เข้ากัน นำไปกรองด้วยกระชอนตาถี่ จากนั้นตักไข่ใส่กรวยสำหรับทำฝอยทอง
3. ตักใบเตยออก และหยอดไข่ให้เป็นสาย วนให้รอบกระทะทองเหลืองประมาณ 20 - 30 รอบ ต่อ 1 ชิ้น
4. ใช้ไม้ปลายแหลม ค่อยๆช้อนฝอยทองขึ้นมาให้เป็นแผ่น วางพักไว้บนตะแกรง 30 นาที
5. จุดเทียนหอมให้มีควันขึ้นมา แล้วจึงดับไฟ นำเทียนหอมและขนมฝอยทอง อบรวมกันด้วยภาชนะปิด 10 นาที ก็จะได้ฝอยทองหอม ๆ ไว้รับประทานแล้วค่ะ



yengo หรือ buzzcity

ขนมปาด ขนมไทยล้านนา

ขนมปาด ขนมไทยล้านนา



ขนมปาด หรือ เข้าหนมปาด เป็นขนมพื้นบ้านของชาวล้านนา บางพื้นที่กล่าวกันว่าเป็นขนมของชาวไทลื้อที่อาศัยอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆของภาคเหนือ เนื่องด้วยประเพณี งานบวช งานบุญ ของชาวไทลื้อสมัยโบราณ มักนิยมทำขนมปาด ซึ่งเป็นขนมลักษณะ คล้ายกับขนมชั้น แต่จะนิ่มกว่า ซึ่งเป็นขนมที่นิยม ของชาวไทลื้อ แต่ขนมปาดเก็บรักษาได้ ไม่นาน แค่ 2 วัน ก็เน่าเสีย

ขนมปาดนั้นมีมานานมากกว่า 60 ปี เป็นขนมที่ทำขึ้นเพื่อนำไปทำบุญที่วัดเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่เมืองและเลี้ยงแขกที่มาเที่ยวบ้านตอนสงกรานต์ ส่วนอีกงานคือ งานปอยหรืองานบวช (บวชลูกแก้ว อุปสมบทพระ)โดย 1 ปีมีเพียง 1 ครั้งเท่านั้น ก็จะมีการทำขนมปาดเป็นงานร่วมสามัคคีของชนในกลุ่มเรียกว่า วันกินขนมปาด จะทำก่อนงาน 1 วัน กระทะแรกสำหรับผู้ทำร่วมกันกิน กระทะที่สองไว้ทำบุญเลี้ยงแขก กระทะที่สามห่อนแจกแขกในงาน เครื่องปรุงหรือส่วนผสมของขนมปาดนั้น ประกอบด้วยข้าวเจ้า น้ำอ้อย มะพร้าวทึนทึก ส่ววิธีทำนั้นมีขั้นตอนไม่มากนัก แต่ต้องอาศัยเวลาในการทำเป็นอย่างมาก เริ่มจากนำข้าวสารมาเคี่ยวกับน้ำอ้อย ในกระทะใบบัว(ใหญ่) ให้ผู้ชาย 2 คน ใช้พายคน กัน ทิ้งไว้เย็นแล้วตัดเป็นคำ ๆ ใส่กระทงใบตองโรยด้วยมะพร้าวทึนทึกขูดหยาบ ๆ (รับประทานกับข้าวแคบ)

ลักษณะของขนมปาดนั้น จะคล้ายขนมศิลาอ่อน จะมีสีออกจะน้ำตาลเข้ม มีรสชาติหวานมัน เวลาเคี้ยวจะกรุบกรอบในปากเล็กน้อยจากมะพร้าวเเละงาที่ใช้ในการทำขนม ในวันงานบวช เจ้าภาพจะห่อขนมปาดแจกแขกถือติดมือไปฝากที่บ้านทุกคน

พิธีกวนขนมปาดหรือการคนขนมปาดนั้นเป็นประเพณีในท้องถิ่นที่สำคัญของชาวล้านนา เป็นกุศโลบายเพื่อการรวมลูกหลานหรือคนในท้องถิ่น เพราะการทำขนมปาดนั้น ต้องอาศัยกำลังคนและอาศัยระยะเวลาในการทำ ในสมัยก่อนนั้นการเตรียมของสำหรับการทำขนมปาด ใช้ระยะเวลาหลายวัน เพราะในสมัยก่อนจะใช้วิธีตำข้าว โดยใช้ “มอง” หรือครกกระเดืองไม้นาดใหญ่ในการตำ เพื่อจะนำข้าวที่ตำแบบละเอียดแล้วมาทำขนม แต่ในปัจจุบันจะใช้แป้งสำเร็จรูปแทน “ขนมปาด “ เป็นขนมที่มี นัยยะ คนสมัยก่อนเขาพูด กันว่า ถ้าใครไม่รวย ไม่มีบริวารมากจะไม่สามารถทำขนมชนิดนี้ได้เลย เพราะใช้ต้นทุนสูง ทั้งเงินทั้งคน เวลาทำจะบ่งบอกด้วยว่าคนทำเป็นคนยังไง อดทนไหม ใจเย็นหรือไม่ เพราะต้องใช้ความละเอียด ผู้เฒ่าสมัยก่อนจะดูว่าที่ลูกเขยลูกสะใภ้ก็จากงานกวนขนมปาด และขนมปาดเป็นยอดขนมด้วย เป็นขนมเอาไว้ไหว้สา เอาไว้ตาน (ถวายพระ) แล้ว ได้บุญ ซึ่งเป็นวิถีอันงดงามของสังคมคนเมืองหรือคนล้านนาสมัยเก่า

ในปัจจุบัน พิธีกนขนมปาดยังได้รับการสืบทอดต่อกันมา ในแต่ละยุคสมัยอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เช่น วิธีการทำ อุปกรณ์ในการทำแต่ในท้องถิ่นต่าง ๆ ของทางภาคเหนือก็ยังคงมีการกนขนมปาดหรือคนขนมปาดในงานประเพณีสำคัญๆ ที่เห็นได้ชัดก็คือ งานสงกรานต์และงานบวช ถือได้ว่าพิธีกนขนมปาดหรือการคนขนมปาดในงานบุญนั้เป็น สร้างความสามัคคีและความรักใคร่ของคนในท้องถิ่นได้อย่างดียิ่ง เป็นพิธีหรือประเพณีที่ควรจะอนุรักษ์ สืบสานเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้วิถีชีวิตที่ปู่ย่าตายายได้สั่งสมเอาไว้ นับ ได้ว่ามีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคม เป็นวัฒนธรรมอันดีงามที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์


เครื่องปรุง/ส่วนผสม


๑. แป้วข้าวจ้าว ๑ กิโลกรัม
๒. น้ำปูนใส ครึ่งถ้วยตวง
๓. มะพร้าวขูดผสมเกลือเล็กน้อย
๔. น้ำอ้อยประมาณ ๑๐ ก้อน

ขั้นตอนและวิธีทำ


๑. ร่อนแป้งเพื่อเอาเศษผงออกแล้วนำไปผสมกับน้ำอ้อยหรือน้ำตาลปี๊บ
๒. ใส่น้ำและคนจนแป้งละลายเข้ากับน้ำตาล
๓. ใช้ผ้าขาวบางกรองเศษผงออกเทใสกระทะทองเหลือง
๔. กวนด้วยไฟกลางจนแป้งสุกร่อนและเทใส่ถาดทิ้งไว้ให้เย็นแล้วตัดขนดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม หรือสามเหลี่ยมตามใจชอบ จากนั้นโรยหน้าด้วยมะพร้าวขูดผสมเกลือเพื่อเพิ่มความสวยงาม และรสชาติ


yengo หรือ buzzcity