ขนมหม้อแกง หรือ ขนมกุมภมาศ

ขนมหม้อแกง หรือ ขนมกุมภมาศ



ขนมหม้อแกง หรือ ขนมกุมภมาศ คือขนมที่ใช้ไข่ แป้ง และกะทิเป็นส่วนประกอบสำคัญ นำผสมกันในถาดตามสัดส่วน แล้วจึงนำไปอบจนหน้าของขนมหม้อแกงมีสีน้ำตาลทอง น่ารับประทาน ปัจจุบันมีการทำเผือก เม็ดบัว ถั่ว และหอมเจียว มาผสม และแต่งหน้าขนมหม้อแกง ทำให้ขนมหม้อแกงมีรสชาติที่กลมกล่อมมากขึ้น

ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นับว่าเป็นยุครุ่งเรืองที่สุดของราชอาณาจักรอยุธยา เพราะเป็นยุคที่ไม่มีศึก สงคราม อีกทั้งยังมีคณะทูต และบาทหลวงจากประเทศต่างๆ เข้ามาเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับอาณาจักรอยุธยาเป็นจำนวนมาก ในเวลานี้เองมีขุนนางผู้หนึ่งชื่อคอนสแตนติน ฟอลคอน ผู้ซึ่งเป็นคนฉลาด หลักแหลม และมีไหวพริวในด้านการค้ามากกว่าพ่อค้าใดๆทั้งหมด จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ดำรงตำแหน่ง พยุหเสนา และเป็นตัวกลางทางด้านการค้าของอาณาจักรอยุธยาและประเทศฝรั่งเศส ต่อมาได้แต่งงานกับนางมารี กีมาร์ หรือ ท้าวทองกีบม้า หลังจากที่พระเพทราชาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เนื่องจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีอาการประชวนหนัก พระเพทราชาจึงได้สั่งประหารชีวิตพระยาวิชาเยนทร์ในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2231 ทำให้ท้าวทองกีบม้าถูกนำตัวไปจำคุกเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี จึงถูกปล่อยตัว แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องทำขนมหวานมาส่งในวังตามอัตราที่กำหนดไว้ ด้วยเหตุที่ว่าท้าวทองกีบม้ามีชื่อเสียงในด้านการทำอาหารคาวหวาน เหตุการณ์ในครั้งนี้นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนโฉมหน้าของขนมไทยครั้งสำคัญ เพราะท้าวทองกีบม้าได้เริ่มทำขนมที่ใช้ไข่มาเป็นส่วนประกอบหลัก อาทิ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมผิง ขนมพลขนมโปร่ง ขนมทองม้วน ขนมสัมปันนี และขนมหม้อแกง ด้วยรสชาติของไข่และน้ำตาลซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของขนมหม้อแกง ทำให้ขนมหม้อแกงได้รับความนิยมชมชอบจากชนชั้นสูงในวัง และได้รับการขนานนามว่า ขนมกุมภมาส

ต่อมาเมื่อลูกมือในบ้านของท้าวทองกีบม้าได้แต่งงาน ก็ได้นำสูตรและวิธีการทำขนมหม้อแกงออกมาถ่ายทอด ทำให้ชาวบ้าน คนธรรมดา ได้มีโอกาสรู้จักกับขนมหม้อแกง

เมื่อปีพ.ศ. 2529 จังหวัดเพชรบุรี ได้มีการบูรณะพระนครคีรีให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ ทำให้ชาวบ้านในละแวกนั้นทำขนมหม้อแกงที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นออกมาจำหน่าย ทำให้ขนมหม้อแกงเป็นขนมที่ขึ้นชื่อของจังหวัดเพชรบุรี


ขนมหม้อแกงสมัยก่อน

ขนมหม้อแกงสมัยก่อนจะทำกินกันเฉพาะในงานสำคัญ เช่น งานบวช หรืองานแต่งงาน ซึ่งขนมหม้อแกงนั้นจะถูกอบในเตาถ่านที่ใช้แผ่นสังกะสีมาคลุมบนถาดขนม แล้วใช้ถ่านหรือกาบมะพร้าวจุดไฟ แล้วเกลี่ยให้ทั่วสังกะสี ขนมหม้อแกงจะได้รับความร้อนทั้งด้านบน และด้านล่าง ทำให้หน้าของขนมหม้อแกงมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลทอง

ส่วนผสมจากสูตรของเพิน นางจะคูณสี่เพิ่มเด้อจ้า

* เผือก 250 กรัม
* น้ำเปล่า 4 ถ้วยตวง
* หัวกะทิ 1 ถ้วยตวง
* น้ำตาลปี๊บ 250 กรัม
* เกลือป่น 1/4 ช้อนชา
* ไข่เป็ด 3 ฟอง
* หอมแดงซอยละเอียด 3 ลูก
* ใบเตย 3 ใบ

วิธีทำ

1. นำหอมแดงไปเจียวในน้ำมันจนเหลืองและกรอบ (ระวังไหม้ ควรเจียวด้วยไฟอ่อนๆ )

2. นำเผือกมาปอกเปลือกและนำไปนึ่งจนสุก จากนั้นจึงนำเผือกไปยีให้เป็นชิ้นเล็กๆ

3. ในชามขนาดกลาง, ผสมไข่ น้ำตาลปี๊บและเกลือ แล้วขยำโดยใช้ใบเตยให้เข้ากันดี น้ำตาลละลายหมด จากนั้นจึงใส่หัวกะทิลงไป ขยำต่ออีกจนส่วนผสมเข้ากันดี แล้วจึงนำไปกรองด้วยผ้าขาวบางเพื่อเอาสิ่งสกปรกออก

4. เอาเผือกใส่ลงไปในส่วนผสมที่กรองแล้ว และใส่น้ำมันที่เหลือจากการเจียวหอมแดง (ประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ) คนจนส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันดี

5. นำส่วนผสมที่ได้ไปกวนด้วยไฟร้อนปานกลางในกระทะทองเหลือง (หรือกระทะเทฟลอนก็ได้) กวนจนส่วนผสมเริ่มข้นก็พอ ถ้ากวนมากเมื่อนำไปอบจะ ไม่น่าทานเพราะจะแตกมัน ที่เรานำมากวนก็เพื่อป้องกันไม่ให้ส่วนผสมแยกชั้นเมื่อนำไปอบเนื่องจากไข่กับกะทิ ไม่เข้ากันดี

6. นำส่วนผสมที่กวนแล้วไปอบ โดยใส่ถาดหรือแบบที่ต้องการ ใช้ความร้อน 180 องศาเซลเซียส (360 องศาฟาเรนไฮต์) อบประมาณ 30 - 40 นาที จากนั้นจึงนำหอมเจียวไปโรยหน้าและอบต่ออีกประมาณ 5 นาที

7. ถ้าอบโดยใส่ถาดไว้ เวลาเสริฟก็ตัดแบ่งเป็นชิ้นขนาดตามความเหมาะสม ถ้าอบโดยใส่แบบอื่นๆไว้ ถ้าขนาดแบบไม่ใหญ่มาก อาจเสิร์ฟได้พร้อมแบบทันที

ที่มา http://goo.gl/Rk7gDS

yengo หรือ buzzcity